ความจริงแดนผู้ดี : ทำไมการเหยียดผิวจึงไม่เคยหายไปในสังคมฟุตบอลอังกฤษ ?


ความจริงแดนผู้ดี : ทำไมการเหยียดผิวจึงไม่เคยหายไปในสังคมฟุตบอลอังกฤษ ?

ถึงแม้การแข่งขันยูโร 2020 จะจบไปได้สักระยะแล้ว แต่ประเด็นที่ยังคงถูกพูดถึงอยู่ในวงสังคมโลกยังมีอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการเหยียดผิวสามนักเตะทีมชาติอังกฤษ มาร์คัส แรชฟอร์ด, เจดอน ซานโช่ และ บูกาโย ซาก้า ที่พลาดจุดโทษในการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ  

แม้จะมีการรณรงค์อย่างจริงจังในอังกฤษ แต่อาชญากรรมในรูปแบบนี้กลับทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แฟนบอลจำนวนมากไม่เกรงกลัวที่จะคอมเมนต์อิโมจิรูปลิงลงบนโซเชียล และส่งเสียงโห่เมื่อนักเตะทีมชาติอังกฤษคุกเข่าแสดงจุดยืนต่อต้านการเหยียดผิว

ทำไมวงการฟุตบอลในประเทศที่ผู้คนขนานนามว่า “แดนผู้ดี” จึงเต็มไปด้วยการเหยียดผิว ? นี่คือบทความที่พาคุณสำรวจการเหยียดผิวในวงการฟุตบอลอังกฤษ ที่เชื่อมโยงกับองค์กรการกุศล, นายกรัฐมนตรี, พรรคอนุรักษ์นิยม, มายาคติ และโครงสร้างทางสังคม

ปราศจากการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

การเหยียดผิว ถือเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับวงการฟุตบอลอังกฤษอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ชื่อของนักฟุตบอลผิวดำคนแรก อาเธอร์ วอร์ตัน ถูกลืมเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์มาหลายสิบปี 

จนถึงวันที่เชลซีเซ็นสัญญากับ พอล คาโนวิลล์ นักฟุตบอลผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์สโมสร เมื่อปี 1980 นำมาสู่การประชุมลับของพรรคขวาจัด National Front ในผับท้องถิ่น ถึงวิธีการที่พวกเขาจะแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับเรื่องนี้

ทศวรรษ 1970s และ 1980s กลายเป็นช่วงเวลาที่ฟุตบอลอังกฤษถูกปกคลุมด้วยการเหยียดสีผิว และวัฒนธรรมฮูลิแกน ที่เป็นการระบายความโกรธแค้นจากวิกฤติเศรฐกิจ ซึ่งก่อให้เกิดการว่างงาน และจ่ายค่าจ้างไม่เป็นธรรมของหมู่วัยรุ่น ก่อนที่ตัวปัญหาเหล่านี้จะถูกเขี่ยออกไปจากสนามฟุตบอล ด้วยนโยบายเพิ่มค่าตั๋ว และเปลี่ยนการเข้าชมฟุตบอลในสนามเป็นที่นั่ง 100 เปอร์เซ็นต์

การเหยียดผิวในสนามฟุตบอลกลับมารุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พฤติกรรมเหยียดผิวต่อนักฟุตบอลผิวดำ ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างจริงจัง เมื่อ ราฮีม สเตอร์ลิ่ง นักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ ถูกเหยียดสีผิวโดยแฟนบอล เชลซี ในเกมที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ บุกเยือนสนาม สแตมฟอร์ด บริดจ์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2018 

ตามปกติแล้ว การเหยียดผิวนักฟุตบอลในสนามแข่งขัน จะไม่ถูกรายงานแก่สื่อสาธารณะเพื่อนำไปตีข่าวใหญ่โต แต่ท้ายที่สุด สเตอร์ลิ่ง ไม่สามารถทนต่อความอยุติธรรมนี้ได้ จึงบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ด้วยตัวเอง

การออกมาของ สเตอร์ลิ่ง สอดคล้องกับช่วงเวลาเดียวกันกับที่ ปิแอร์ เอเมอริค โอบาเมยอง ศูนย์หน้าของทีม อาร์เซน่อล ถูกปาด้วยเปลือกกล้วยหลังจากทำประตูได้ในเกมที่พบกับ ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ปี 2018 

และหลังจากการเหยียดผิว สเตอร์ลิ่ง เพียง 5 วัน แฟนบอลของเชลซีได้ร้องเพลงที่มีเนื้อหาเหยียดชาวยิว ขณะบุกไปเยือนสโมสร โมล วิดี้ ที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ในศึกยูโรปา ลีก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ปี 2018

แม้ตำรวจจะทำการสอบสวนในกรณีดังกล่าว และลงโทษผู้กระทำผิดบางส่วนด้วยการแบนห้ามเข้าชมเกมฟุตบอลตลอดชีวิต แต่อย่างที่ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เฮดโค้ชของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เคยกล่าวไว้ว่า “การเหยียดผิวมีอยู่ทุกที่ ไม่ใช่แค่ในกีฬาฟุตบอล” 

พฤติกรรมเหยียดผิวของแฟนบอลอังกฤษที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนธันวาคม ปี 2018 จึงเป็นเหมือนนาฬิกาปลุกที่ส่งสัญญาณไปยังผู้มีอำนาจในสังคมว่า เราควรทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้

แล้วจะมีใครลงมือแก้ปัญหาอะไรบ้างหรือไม่ ? คำตอบคือ ไม่เลย … แม้มีองค์กร Kick It Out ที่พร้อมสนับสนุน และยืนเคียงข้างนักฟุตบอลที่ถูกเหยียดผิว แต่ก็ไม่เคยลุกขึ้นมาต่อสู้กับอาชญากรรมรูปแบบนี้อย่างจริงจัง 

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้แข้งระดับตำนาน ทั้ง ริโอ เฟอร์ดินานด์ และ โจลีออน เลสคอตต์ ไม่เคยบริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลนี้ เพราะพวกเขารู้สึกว่า ไม่เคยมีการแก้ปัญหาเหยียดสีผิวจากแฟนบอล, ผู้เล่น และสถาบันกีฬาใด ๆ

การประกาศลาออกจากตำแหน่งของลอร์ด เฮอร์มัน เอาส์ลีย์ ประธานองค์กรการกุศล Kick It Out

หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสเตอร์ลิ่ง แม้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมายาวนานกว่า 25 ปีแล้วก็ตาม แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการปราบรามพฤติกรรมเหยียดผิวในโลกฟุตบอล

ขณะที่ฝ่ายปราบปรามการเหยียดผิวกำลังล้มเหลว กลุ่มแฟนบอล “ขวาจัด” กำลังเติบโตขึ้นทุกขณะ แม้กระทั่งในเมืองที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ อย่าง เลสเตอร์ ที่พยายามต่อสู้กับการเหยียดผิว และเชิญชวนให้คนกลุ่มน้อยในชุมชนเข้ามาชมเกมฟุตบอลอย่างต่อเนื่อง แต่คนผิวดำหลายคนยังรู้สึกว่า พวกเขารู้สึกไม่สบายใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในสนามฟุตบอล

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศอังกฤษจะมีองค์กรขวาจัดก่อตั้งขึ้นมาคือ Football Lads Alliance เพื่อเหยียดผิวนักฟุตบอลโดยเฉพาะ ซึ่งองค์กรนี้มีเป้าหมายมากกว่าแค่ปากล้วยลงในสนามฟุตบอล แต่ต้องการเผยแพร่พฤติกรรมหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) และส่งเสริมให้ก่อความรุนแรง, เหยียดสีผิว รวมถึงเกลียดชังผู้หญิง

การขยายตัวของกลุ่มขวาจัดในวงการฟุตบอล ดูเหมือนเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมที่ภาครัฐต้องจัดการ แต่ถ้าคุณมองไปยังรัฐบาลอังกฤษในเวลานี้ ก็จะพบว่าไม่ใช่เรื่องแปลก หากพฤติกรรมเหยียดผิวในอังกฤษจะรุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณ

 

รัฐบาลไม่ใส่ใจในการแก้ปัญหา 

ปัจจุบัน รัฐบาลอังกฤษอยู่ภายใต้การนำของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ หรือ พรรคอนุรักษ์นิยม โดยมีผู้นำรัฐบาลคือ บอริส จอห์นสัน เจ้าของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่เคยสร้างความอื้อฉาวมาแล้วไม่น้อย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดผิว

ย้อนกลับไปในปี 2018 บอริส จอห์นสัน เคยกล่าวว่าสตรีมุสลิมที่สวมฮิญาบในที่สาธารณะ มีลักษณะคล้ายคลึงกับกล่องจดหมาย ส่วนปี 2019 เขาได้กล่าวว่าผู้ชายผิวดำมีรอยยิ้มลูกแตงโม (Watermelon Smile) สื่อถึงรูปปากสีแดงที่เห็นเด่นชัดของคนผิวดำ

บอริส จอห์นสัน ตกเป็นประเด็นอีกครั้งในปี 2021 นี้ หลังนักเตะทีมชาติอังกฤษถูกโห่โดยแฟนบอลร่วมชาติจำนวนหนึ่ง ขณะคุกเข่าเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการเหยียดสีผิว ในเกมที่พวกเขาลงอุ่นเครื่องกับประเทศโรมาเนีย ที่สนามริเวอร์ไซด์ สเตเดี้ยม หลังเจ้าตัวปฏิเสธที่จะประณามแฟนบอลเหล่านั้น โดยกล่าวอ้างว่า ประชาชนอังกฤษทุกคนมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของตนอย่างเต็มที่

“ท่านนายกรัฐมนตรีเคารพสิทธิ และความรู้สึกของผู้ประท้วง (การคุกเข่า) อย่างสันติ และในส่วนเรื่องของการคุกเข่านั้น นายกรัฐมนตรีของเราก็ให้ความสำคัญกับการกระทำมากกว่าการแสดงท่าทาง เราได้ดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ ร่วมกับ กรรมาธิการด้านความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ นั่นคือสิ่งที่ท่านให้ความสำคัญ” โฆษกส่วนตัวของ บอริส จอห์นสัน กล่าว

สมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟรายอื่น ก็ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเหยียดผิวเช่นกัน เพราะก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์ยูโร 2020 ได้ไม่นาน พริตี้ เพเทล สมาชิกรัฐสภาเชื้อสายอูกันดา-อินเดียน ให้สัมภาษณ์กับช่องโทรทัศน์ขวาจัด GB News ว่า เธอไม่สนับสนุนการคุกเข่าเพื่อต่อต้านการเหยียดสีผิวของนักเตะทีมชาติอังกฤษ โดยให้เหตุผลว่า “ฉันแค่ไม่สนับสนุนคนที่มีส่วนร่วมทางการเมืองในท่าทางแบบนั้น”

ในมุมกลับกัน พริตี้ เพเทล กลับยืนยันว่า การโห่นักเตะอังกฤษขณะแสดงจุดยืนต้านการเหยียดสีผิว ถือเป็น “ทางเลือก” ในการแสดงออกอย่างหนึ่ง และยังปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่า เธอจะทำอย่างไรหากนักเตะอังกฤษถูกแฟนทีมตัวเองโห่ขึ้นมาจริง ๆ ในยูโร 2020

ดั่งที่เรารู้กันว่า ทุกอย่างเลวร้ายกว่าที่คาด เมื่อ 3 นักเตะผิวดำผู้พลาดจุดโทษในรอบชิงชนะเลิศ ต้องรับมือกับการเหยียดผิวมากมายจากแฟนบอล และเมื่อสถานการณ์เลวร้ายเกินควบคุม 

ทั้ง บอริส จอห์นสัน และ พริตี้ เพเทล ต่างออกมาปกป้องนักเตะทีมชาติอังกฤษอย่างเต็มที่ แต่ไม่ใช่เพราะพวกเขามองเห็นปัญหา เหตุผลที่แท้จริงมาจากกระแสที่ประชาชนมากกว่า 1 ล้านคน ไปลงชื่อในแคมเปญแบนคนเหยียดสีผิวในสนามฟุตบอล

การยูเทิร์นครั้งนี้ของ บอริส จอห์นสัน และ พริตี้ เพเทล ถูกวิจารณ์โดยฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล (หนึ่งในนั้นคือ ไทโรน มิงส์ นักเตะทีมชาติอังกฤษ) ถึงความไม่จริงใจของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ เพราะก่อนหน้านี้ พวกเขายืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับขบวนการ Black Lives Matter มาโดยตลอด

และยังไม่เคยสนับสนุนนักเตะทีมชาติอังกฤษสักครั้ง ในวันที่พวกเขาป่าวประกาศว่าถูกเหยียดสีผิวในสนามฟุตบอล หรือแม้แต่ในวันที่พวกเขาทำดีเกินหน้าเกินตารัฐบาล 

เพราะครั้งหนึ่ง สมาชิกรัฐสภาจากพรรคอนุรักษ์นิยม นาตาลี เอลฟิคเกอ เคยวิจารณ์ มาร์คัส แรชฟอร์ด ว่า ควรลดเวลาทางการเมือง และเพิ่มเวลาเกี่ยวกับการเล่นฟุตบอลให้มากขึ้น หลังดาวดังจาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เริ่มออกแคมเปญอาหารกลางวันฟรี และโจมตีรัฐบาลอังกฤษที่ตัดงบประมาณส่วนนี้

ความล้มเหลวขององค์กรการกุศล และรัฐบาลที่ฉวยโอกาสจากสงครามทางวัฒนธรรม คือเหตุผลที่ทำให้อังกฤษเจอกับวิกฤติเหยียดสีผิวอยู่ในปัจจุบัน แต่ดูเหมือนว่าสาเหตุจะไม่ได้มีอยู่แค่นั้น เพราะการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับความแตกต่างทางสีผิวที่ผิดเพี้ยนมาตั้งแต่ต้น มีส่วนสำคัญที่ทำให้การเหยียดผิวในประเทศแห่งนี้ มีความชอบธรรมดั่งที่สมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมหลายคนแสดงออก

 

เหยียดผิวคือปัญหาระดับโครงสร้างสังคม

อีกเหตุผลที่ทำให้การเหยียดผิวในสหราชอาณาจักรยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังมาถึงปัจจุบัน คือการมองว่า พฤติกรรมเหยียดสีผิว เป็นการกระทำที่เกิดจากความเสื่อมทรามทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นส่วนน้อยของสังคม ไม่ใช่ปัญหาจากโครงสร้างทางการเมืองและสถาบันทางสังคม

เกรซ เบลคลีย์ นักวิจารณ์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง จากนิตยสาร Tribune กล่าวว่า มีเพื่อนของเธอจำนวนมากส่งข้อความเข้ามาพูดคุย หลังการเหยียดสีผิวนักเตะทีมชาติอังกฤษ เนื่องจากความพ่ายแพ้ในนัดชิงชนะเลิศยูโร 2020 โดยทั้งหมดพูดในทำนองเดียวกันว่า

“ความสนุกของการชมฟุตบอลจางหายไปเนื่องจากเหตุการณ์เหยียดสีผิว มันสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนและประเทศแห่งนี้ย่ำแย่มากแค่ไหน พวกเขาไม่อยากเชื่อกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย”

เบลคลีย์อธิบายต่อว่า เพื่อนของเธอส่วนมากที่พูดในลักษณะนี้ คือกลุ่มคนประเภท Non-political หรือ กลุ่มคนที่กล่าวอ้างว่าตนเอง “ไม่มีความสนใจทางการเมือง” ซึ่งในบริบทของประเทศอังกฤษนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนที่ยึดมั่นกับแนวคิดเสรีนิยม ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในรูปแบบใด ๆ ยกเว้น การเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง ตามวิถีทางประชาธิปไตย

หากวิเคราะห์ตามมุมมองของแนวคิดเสรีนิยม ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนในอังกฤษจะมองว่า การเหยียดสีผิว มีสาเหตุมาจากความชั่วร้ายของปัจเจกบุคคล เพราะแนวคิดปัจเจกนิยม (Individualism) ถือเป็นหัวใจของอุดมการณ์เสรีนิยม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเอาชนะแนวคิดอนุรักษ์นิยม และแก้ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นได้มากมาย

ไม่ว่าจะเป็น การช่วยเหลือ และยุติการค้าทาส หรือการสร้างสังคมใหม่ที่ปราศจากการแบ่งแยกเชื้อชาติ หากปราศจากแนวคิดเสรีนิยมแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่โลกจะมองเห็นว่า ความเกลียดกลัวต่างชาติ (Xenophobia), ชาตินิยม (Nationalism) และการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) คือปีศาจร้ายที่ทำลายสังคมอันเป็นสุขของมนุษย์

คนทั่วไปในอังกฤษจึงเชื่อว่า การเหยียดผิวมีต้นตอมากจากความเสื่อมทรามทางศีลธรรมของแต่ละบุคคล ที่ไม่ยอมรับความแตกต่างทางสีผิว, เชื้อชาติ และศาสนา จนแสดงออกเป็นพฤติกรรมที่ล้าหลัง และป่าเถื่อน ซึ่งควรจะหมดสิ้นไปจากยุคโลกาภิวัฒน์เสียที

อย่างไรก็ตาม เบลคลีย์ มองว่า คนส่วนใหญ่ในอังกฤษเพิกเฉย จะมองว่าการเหยียดสีผิวเป็นปัญหาที่ผูกพันกับโครงสร้างทางสังคมมาตั้งแต่ต้น ยกตัวอย่างเช่น การแบ่งแยกคนผิวขาวและคนผิวดำในยุคล่าอาณานิคม เพื่อเพิ่มอำนาจให้ผู้ปกครองสามารถจัดการคนพื้นเมืองได้ง่ายขึ้น

“คนผิวขาว” จึงเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้า, ความมีเหตุผล และความมีอารยธรรม ส่วน “คนผิวดำ” คือชนชั้นของความแปลกประหลาด, ความล้าหลัง และความโง่เขลา

ชาติที่เริ่มต้นใช้แนวคิดแบ่งแยกสีผิว จนประสบความสำเร็จอย่างมากในยุคล่าอาณานิคม ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก สหราชอาณาจักร เช่น การกดขี่คนพื้นเมืองในเคนย่า นำมาสู่เหตุการณ์ กบฏเมา เมา (Mau Mau Rebellion) ในช่วงปี 1952–1960 ซึ่งสหราชอาณาจักร ได้ทำการกวาดล้างคนผิวดำจำนวนมาก และปกปิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ให้ใครรับรู้

การเข่นฆ่าระหว่างคนผิวดำและคนผิวขาว ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปแล้วในปัจจุบัน นับตั้งแต่ประเทศอาณานิคมส่วนใหญ่ได้รับเอกราช ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ตาม อุดมการณ์อาณานิคมใหม่ (Neo-colonialism) ยังคงมีอยู่ ผ่านระบบเศรษฐกิจ, การเมือง และการแบ่งแยกทางวัฒนธรรม

เบลคลีย์ กล่าวว่า ชาวอังกฤษเลือกที่จะมองข้ามความจริง ว่าประเทศของพวกเขาเป็นหนึ่งในผู้สร้างการแบ่งแยกสีผิวนี้ ไม่ใช่เรื่องราวของเจ้าอาณานิคมผู้โหดเหี้ยมหรือการกดขี่ทาสชาวแอฟริกันโดยคนผิวขาว แต่เป็นการกดขี่โดยอุดมการณ์อาณานิคมใหม่ของคนส่วนมากในอังกฤษทุกวันนี้ ที่มองว่า ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคแอฟริกัน-ซาฮาร่า “ล้าหลังและป่าเถื่อน”

เมื่อชาวอังกฤษไม่สามารถมองเห็นมายาคติที่ถูกสร้างผ่านความแตกต่างทางสีผิวได้ คนส่วนใหญ่จึงยังมองว่า ความล้าหลังที่เกิดขึ้นในโลก ณ ปัจจุบัน เกิดจากเชื้อพันธุ์ของมนุษย์โดยกำเนิด แทนที่จะมองว่าเกิดจากโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งท้ายที่สุด เอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มหนึ่งสามารถรังแกคนผิวดำตามท้องถนน หรือคอมเมนต์อิโมจิรูปลิงลงในอินสตาแกรมของนักฟุตบอล โดยไม่รู้สึกว่าตนทำอะไรผิด

ชาวอังกฤษผลักให้การเหยียดสีผิวเป็นความผิดส่วนบุคคล แทนจะเป็นปัญหาที่ส่วนรวมต้องรับผิดชอบ และแก้ไขจนถึงระดับโครงสร้าง จึงเป็นเรื่องง่ายที่ชาวอังกฤษส่วนใหญ่จะตั้งคำถามทำนองว่า “ทำไมคนเราถึงทำอะไรที่เลวร้ายแบบนั้น” หรือ “ทำไมการเหยียดผิวถึงยังคงมีอยู่ในโลกปัจจุบัน” 

เพราะคำถามเหล่านั้นช่วยให้คนทั่วไปสบายใจ แต่ไม่ได้ช่วยในการแก้ไขหรือปฏิเสธอุดมการณ์บางอย่าง ที่ทำให้คนอังกฤษมองว่า คนผิวดำยังคงล้าหลังกว่าคนผิวขาวในทุกมิติ

นอกจากนี้ การมองว่าพฤติกรรมเหยียดสีผิวว่าเป็นความเสื่อมทรามทางศีลธรรมส่วนบุคคล ยังทำให้คนส่วนหนึ่งรู้สึกว่า การเหยียดสีผิว, ความไม่เท่าเทียม และความอยุติธรรม เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว มันจะมีสักคนหนึ่งที่เกิดมา “เลว” โดยสมบูรณ์ ซึ่งเราทำได้เพียงตัดคนเหล่านั้นออกจากสังคมทิ้งไป

เบลคลีย์ ย้ำว่าความคิดในลักษณะดังกล่าว มีผลทำให้การต่อต้านพฤติกรรมเหยียดสีผิวในอังกฤษอ่อนกำลังลง เพราะกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มปฏิกิริยานิยมฝ่ายขวา มีพฤติกรรมกีดกันและตอบโต้คนต่างชาติที่เปิดเผยกว่ามาก การตระหนักว่าการเหยียดเชื้อชาติเป็นความผิด และบุคคลที่กระทำความผิดต้องถูกลงโทษจึงไม่เพียงพอ

การเหยียดผิวนักฟุตบอลจึงไม่ใช่ความเลวร้ายที่เกิดจากฮูลิแกน หรือแฟนบอลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการกระทำอันน่าขยะแขยงที่แฝงตัวอยู่ในทุกเหลี่ยมมุมของโลกยุคปัจจุบัน

วิธีแสดงออกของนักกีฬา เช่น การคุกเข่าก่อนเริ่มเกม หรือ การลงโทษอย่างจริงจังต่อผู้กระทำผิด ย่อมมีส่วนสำคัญกับการต่อต้านการเหยียดผิว เนื่องจากเป็นการส่งข้อความแก่สังคมที่ชัดเจน แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น หากโจทย์ที่ตั้งไว้คือการลดพฤติกรรมดังกล่าวในทางปฏิบัติ

ท้ายที่สุดแล้ว การเหยียดผิวไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในสนามฟุตบอล แต่เป็นปัญหาในระดับโครงสร้างสังคมที่คนอังกฤษและประชากรทั่วโลกต้องรับมืออยู่ในปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากจำเป็นต้องเกิดขึ้น เพื่อทำลายมายาคติที่เคยมี และนับหนึ่งกับความเข้าใจในความแตกต่างทางสีผิวเสียใหม่

หากความเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมไม่เกิดขึ้น เป็นไปไม่ได้เลยที่การเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอลจะหายไป ในยูโร 2020 นี้ มีเหยื่อจากอาชญากรรมนี้เพียง 3 คน แต่ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจจะได้เห็นผู้เล่นนับสิบรายถูกเหยียดผิวจากความผิดเพียงอย่างเดียวของพวกเขาคือ การไม่ได้เกิดมาผิวขาวเหมือนชาวยุโรปทั่วไป

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on reddit
Reddit