
ยุคสมัยที่อุตสาหกรรมกีฬาอาชีพ จำเป็นต้องดำรงอยู่ด้วยเงินทอง การปรากฏตัวเป็น “ผู้สนับสนุน” บนชุดแข่งขันของทีม จึงมีราคาสูงยากเกินกว่าแฟนบอลธรรมดาสามัญเอื้อมถึง
เว้นเสียแต่ว่าคุณร่ำรวยเป็นเศรษฐี, เป็นองค์กรธุรกิจ หรือมีเงินทองมากพอที่จะจ่าย ดั่งเช่น เอ็ด ชีแรน ศิลปินชื่อดัง ที่ลงทุนควักตังค์เป็นสปอนเซอร์คาดหน้าอก อิปสวิช ทาวน์ ในซีซั่นหน้า
บางสโมสร จึงมีความสัมพันธ์กับแฟนบอลเหมือนเป็น “ลูกค้า” ที่คนเหล่านี้จะเข้ามาอุดหนุนทีม ผ่านการจ่ายเงินซื้อตั๋วเข้าชมการแข่งขัน และสินค้าที่ระลึก
แต่บางทีม “แฟนคลับ” คือ “คนสำคัญ” ไม่ต่างอะไรกับสปอนเซอร์ภาคเอกชนที่จ่ายเงินก้อนโตแลกสิทธิประโยชน์บางอย่าง
“กุ้งสายฟ้า” สุราษฎร์ธานี ฟุตซอลคลับ และ วอลซอลล์ เอฟซี สองทีมนี้อาจอยู่ห่างกันคนละซีกโลก แต่มีสถานะที่เหมือนกัน นั่นคือการเป็นทีมประจำเมือง
แฟนคลับส่วนใหญ่ของพวกเขา คือ ประชากรที่อาศัยหรือเกิดในท้องถิ่นนั้น ๆ ไม่ได้เป็นทีมมหาชนที่มีฐานกองเชียร์กระจายตัวอยู่ทั่วโลก เหมือนดั่ง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, บาร์เซโลน่า
ทั้งสองสโมสร เคยเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากในปัญหาด้านการเงินต่างวาระ อย่าง “กุ้งสายฟ้า” เคยเกือบต้องยุบทีม เมื่อปลายปี 2018 เพราะคนทำทีมไม่สามารถแบกค่าใช้จ่ายต่อไปไหว จนเกือบยุบทีม
ส่วน “วอลซอลล์ เอฟซี” เจอพิษ COVID-19 เล่นงานเต็ม ๆ ในซีซั่นที่ผ่านมา และจำเป็นต้องเปิดช่องทางคืนเงินแก่ แฟนคลับผู้ถือตั๋วปี เนื่องจากไม่สามารถเปิดสนามให้ กองเชียร์เข้าชมได้เหมือนที่เคยเป็นมา
แต่ในห้วงเวลาที่ยากลำบากสุด ๆ ของทีม วอลซอลล์ และ สุราษฎร์ฯ สิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเขาก้าวผ่านวิกฤตินั้นไปได้ ก็คือ “แฟนคลับ” ที่พร้อมหนุนหลังด้วยการจ่ายเงินซื้อตั๋วปี เพื่อให้สโมสรได้นำเงินส่วนนี้ไปทำทีมต่อ
ย้อนกลับไปประมาณเกือบ 3 ปีก่อน ผู้บริหารสโมสรสุราษฎร์ธานี ฟุตซอลคลับ ประกาศวางมือพร้อมเปิดทางให้ กลุ่มคนหน้าใหม่เข้ามาบริหารจัดทีม แต่ผ่านไป 1 เดือนก็ยังไม่เจอคนทำทีมที่ใช่
แฟนคลับกุ้งสายฟ้า จึงรวมตัวกันล่ารายชื่อกว่า 2,000 คน จ่ายเงินกันคนละ 1,000 บาท เพื่อซื้อตั๋วปีล่วงหน้า สำหรับซีซั่น 2019 ทำให้ กุ้งสายฟ้า มีเงินก้อนแรกจากการทำทีมโดยแฟนคลับ 2 ล้านบาท “ผู้บริหารชุดเดิม” จึงเดินหน้าทำทีมต่อ
น้ำใจจากแฟนคลับที่ไม่ทอดทิ้ง แม้ยามลำบาก ทำให้ “กุ้งสายฟ้า” และ Kool สปอนเซอร์ผู้ผลิตชุดแข่งประจำสโมสร อยากตอบแทนกลุ่มคนที่สำคัญสุดของทีม ด้วยการร่วมออกแบบเสื้อแข่งทีมเยือน Limited Edition ที่ไม่มีวางจำหน่าย แต่มีไว้ให้กับ “แฟนบอลที่ถือตั๋วปี” เท่านั้น
ความพิเศษของเสื้อแข่งตัวนี้ อยู่ตรงที่มีการนำชื่อ แฟนคลับกว่า 2,000 คน สกรีนลงเป็นลวดลายบนชุดแข่ง และใช้เป็นเสื้อที่นักกีฬาสวมใส่แข่งขันในฤดูกาล 2019
หากแฟนคลับคนไหนมีเสื้อแข่ง Limited Edition อยู่ในครอบครอง นั่นหมายความว่า “พวกเขาคือกลุ่มคนที่ลงขันซื้อตั๋วปีล่วงหน้า” ในยามที่สโมสรเจอกับปัญหาด้านการเงิน
ผลงานในฤดูกาลนั้น สุราษฎร์ธานีฯ พุ่งขึ้นไปจบอันดับ 3 ของตารางฟุตซอลไทยแลนด์ลีก เป็นรองแค่ พีทีที ชลบุรี บลูเวฟ และ การท่าเรือ ฟุตซอลคลับ 2 ทีมบิ๊กเนมของประจำลีกเท่านั้น
ผู้เขียนเคยมีโอกาสเดินทางไปดูเกมเหย้าของ สุราษฎร์ฯ ฟุตซอลคลับ ในซีซั่นดังกล่าว สิ่งที่ค่อนข้างประหลาดใจก็คือ ภาพบรรยากาศของกองเชียร์ที่เราเห็น ส่วนใหญ่เลือกสวมเสื้อเยือนสีน้ำเงิน ตัว Limited Edition แทนที่จะเป็น เสื้อแข่งชุดเหย้าสีส้ม แม้แต่แม่ค้าขายลูกชิ้นหน้าสนาม ก็ใส่เสื้อแข่งที่มีลายสกรีนชื่อแฟนคลับ
“ป้าไม่เคยได้เข้าไปดูเกมในสนามหรอกลูก ก็ขายของอยู่ตรงนี้มานาน ตอนนั้นได้ยินมาว่าทีมกำลังลำบาก ก็เลยช่วยซื้อตั๋วปี ไม่อยากให้ สุราษฎร์ฯ ยุบทีม” แม่ค้าท่านหนึ่งบอกกับผู้เขียน ถึงเหตุผลที่เธอซื้อตั๋วปี ในซีซั่นดังกล่าว
เช่นเดียวกับ โอฬาร วงศ์สุบรรรณ หนึ่งในแฟนคลับที่ซื้อตั๋วปี บอกกับเราว่า “ผมไม่ลังเลใจ ที่จะซื้อตั๋วปี พอรู้ข่าวว่าทีมต้องการความช่วยเหลือ รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สโมสรอยู่ได้ ไม่อยากให้ยุบไป มันเหมือนกิจกรรมหนึ่งของคนในจังหวัดสุราษฎร์ฯ ไปแล้ว เวลาเห็นชื่อตัวเองบนเสื้อแล้วรู้สึกภูมิใจอย่างบอกไม่ถูก”
ส่วนในเคสของ วอลซอลล์ เอฟซี สโมสรในลีก ทู (ลีกระดับ 4 ของอังกฤษ) เจอปัญหาใหญ่ เมื่อไม่สามารถเปิดให้แฟนบอลเข้าสนามได้เหมือนเดิม เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดยังรุนแรง วอลซอลล์ ไม่มีทางเลือกอื่น จึงจำเป็นต้องเปิดช่องทางให้กองเชียร์ที่ต้องการเงินค่าตั๋วปีคืนจากสโมสร
แน่นอนว่าสถานการณ์แบบนี้ เงินเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลายชีวิต แต่แฟนบอลผู้ถือตั๋วจำนวนหนึ่ง ยินดีที่สละมัน เพื่อให้สโมสร ยังมีเงินก้อนส่วนหนึ่งหมุนเวียนในการทำทีม สู้ศึกกับซีซั่นที่ยากลำบากแสนสาหัส
ซึ่ง วอลซอลล์ ต้องดิ้นรนทำแต้ม เนื่องจากอยู่ในโซนล่างของตาราง ผลสุดท้าย วอลซอลล์ รอดตกชั้นจบซีซั่นที่ผ่านมา ด้วยอันดับ 19 จาก 24 ทีม
เมื่อฤดูกาลใหม่กำลังมาถึง สิ่งหนึ่งที่ วอลซอลล์ เอฟซี เลือกทำในฤดูกาล 2021-22 ก็คือการประสานไปยัง ผู้ผลิตชุดแข่งแบรนด์ Errea ให้นำชื่อของ เหล่าแฟนบอลผู้ถือตั๋วปีสโมสรที่ไม่เอาเงินคืน สกรีนลงบนชุดแข่งขันที่ 3
โดยสโมสรจะลดราคา เสื้อแข่งตัวนี้ ลง 35 เปอร์เซนต์ ตั้งแต่ไซส์จูเนียร์ขึ้นไป เพื่อตอบแทนแก่ แฟนคลับตั๋วรายปี ที่ปฏิเสธขอเงินคืนจากสโมสร เมื่อฤดูกาลกก่อน
“พวกเรารู้สึกขอบคุณแฟนบอลทุกคน ที่ยอมทิ้งเงินค่าตั๋วปีไว้กับสโมสร และนี่คือวิธีการของเราที่จะตอบแทน ด้วยการใส่ชื่อพวกคุณทุกคนลงไปในชุดแข่งฤดูกาลหน้า” ลีห์ พอมเลตต์ ประธานสโมสรวอลซอลล์ เอฟซี เปิดเผยผ่านเว็บไซต์สโมสร
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากซีซั่นใหม่เดินทางมาถึง และสามารถเปิดให้ผู้ชมเข้าสนามได้ ชุดแข่งสีขาวเยือนตัวที่ 3 ของวอลซอลล์ (ชุดแข่งหลักสีแดง) จะได้รับความนิยมจากเหล่าแฟนคลับผู้จงรักภักดีต่อสโมสร เหมือนดั่งที่เคยเกิดขึ้นกับ สุราษฎร์ฯ ฟุตซอลคลับ เมื่อปี 2019
ไม่ใช่เพียงเพราะมันชื่อพวกเขาปรากฏอยู่บนชุดแข่งเท่านั้น แต่เสื้อตัวนี้ยังเปรียบเสมือน สัญลักษณ์ของการอยู่เคียงข้างกันแม้ยามลำบาก ระหว่างแฟนบอลกับสโมสร และการตอบแทนความรักที่ สโมสรมอบให้แก่ แฟนคลับคนสำคัญของพวกเขา