“ชีวิตชนะ” : ภาพสะท้อนความเท่าเทียมและความหมายของชีวิตในรัฐสวัสดิการนอร์ดิก


"ชีวิตชนะ" : ภาพสะท้อนความเท่าเทียมและความหมายของชีวิตในรัฐสวัสดิการนอร์ดิก

พาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์เดนมาร์กเช้าวันที่ 15 มิถุนายน 2021 “เดนมาร์กแพ้ แต่ ชีวิตชนะ” หลังจากที่คนทั้งโลกได้เป็นประจักษ์พยานต่อ การล้มหมดสติของ คริสเตียน เอริคเซ่น นักฟุตบอลตัวความหวังของทีมชาติ ในการแข่งขันระหว่างทีมชาติเดนมาร์ก และ ฟินแลนด์ ในการแข่งขันยูโร 2020

มีหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงนาทีแรก ๆ ของการช่วยชีวิต การปฐมพยาบาลฉุกเฉิน การที่เพื่อนร่วมทีมร่วมกันตั้งกำแพงมนุษย์ยืนบังไม่ให้การปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ถูกจับจ้องโดยกล้องของสื่อมวลชน และแฟนบอล ตลอดจนแฟนบอลฝั่งตรงข้ามที่ช่วยโยนธงผืนใหญ่เอาไว้ใช้บังเหตุการณ์การรักษาพยาบาลเพิ่มเติม ก่อนการเคลื่อนย้ายฉุกเฉินไปสู่โรงพยาบาลที่ไม่ไกลจากสนามแข่ง 

ล่าสุด คริสเตียน เอริคเซน พ้นขีดอันตรายและอยู่ระหว่างการฟื้นตัว ปรากฏการณ์นี้นำสู่การพูดถึงในวงกว้างด้วยภาพการจัดการเพื่อรักษาชีวิตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จนนำไปสู่คำว่า “ชีวิตชนะ” เรื่องเหล่านี้อาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ กว่า “ชีวิต” จะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน หรือเพียงแค่การสั่งสอนในโรงเรียน หากแต่เป็นภาพสะท้อนการต่อสู้อันยาวนานเพื่อสร้าง “รัฐสวัสดิการ” ที่ฝังรากลึกในสังคมนอร์ดิก

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ ภาควิชาปรัชญา, การเมือง และเศรษฐศาสตร์ จึงชวนทุกท่านคิดตามให้ไกลมากกว่าเรื่องในสนามกีฬา แต่ชวนคุยกันเรื่อง กว่าชีวิตจะชนะ สังคมเหล่านั้นผ่านอะไรมาบ้าง

1

“รัฐสวัสดิการแบบนอร์ดิก” ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงลักษณะทางเศรษฐกิจการเมืองที่นำไปสู่การจัดการสวัสดิการด้วยระบบที่สมบูรณ์ที่สุด ระบบสวัสดิการแบบนอร์ดิกนี้แตกต่างจาก ระบบประกันสังคมที่ใช้ในเยอรมนี ซึ่งเน้นให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ที่อยู่ในระบบการจ้างงาน แตกต่างจากระบบของสหรัฐอเมริกาที่ให้ประชาชนออมและลงทุนเองในระบบประกันเอกชน หรือต่างจากระบบสงเคราะห์ที่ช่วยเหลือเป็นรายคนแบบที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยหรือในหลายประเทศ ตัวแบบสวัสดิการที่ใช้ในกลุ่มประเทศนอร์ดิกเรียกกันว่าเป็นตัวแบบ “รัฐสวัสดิการแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย” หลักการคือประชาชนทุกคนในประเทศ ไม่ว่าคนจะเป็นคนรวย คนจน คนชั้นกลาง ประชาชนจะได้รับสิทธิสวัสดิการกันอย่างเสมอภาค ไม่เกี่ยวกับว่าผู้นั้นเป็นนักกีฬาโอลิมปิก หรือนักโทษที่เพิ่งพ้นโทษ นักการเมืองที่มีชื่อเสียงหรือ หรือแรงงานที่เพิ่งอพยพเข้ามา ทุกคนได้รับการดูแลเท่าเทียมกันอย่างเสมอภาค และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

จุดนี้คือหัวใจของรัฐสวัสดิการแบบนอร์ดิก หากถามว่าสิ่งที่พลเมืองชาวนอร์ดิกได้อะไร ก็เป็นเรื่องง่าย ๆ แต่สำคัญ นั่นคือ สิทธิการลาเลี้ยงลูกมากกว่า 400 วัน เงินเลี้ยงดูเด็กจนอายุ 16 ปี เงินเดือนสำหรับนักเรียนที่เรียนในระดับมัธยมจนถึง มหาวิทยาลัยฟรี พร้อมเงินเดือนจนถึงปริญญาเอก ประกันการว่างงานสูงสุดถึง 1 ปี บำนาญเริ่มต้นเดือนละ 30,000  บาท ไม่นับรวมโครงสร้างพื้นฐานอย่าง รถเมล์ รถไฟ ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก บ้านผู้สูงอายุ สนามกีฬา สวนสาธารณะ ฯลฯ ที่เข้าถึงได้ทุกคน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคน

เมื่อปี 2019 คนไทยตื่นเต้นกับ ซานนา มาริน นายกรัฐมนตรีหญิงจากฟินแลนด์ที่อายุน้อยที่สุดในโลก เธอมาจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน แม่ผ่านการหย่าร้าง แต่งงานใหม่กับคู่สมรส LGBT กรณีของเธออาจแปลกและเป็นไปได้ยากที่คนที่มีปูมหลังแบบนี้จะดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของประเทศ แต่สำหรับประชาชนชาวฟินแลนด์เรื่องนี้นับเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนจะมีโอกาสวิ่งตามความฝัน แม้จะเกิดมาแตกต่างกันแต่รัฐสวัสดิการทำให้ผู้คนสามารถเป็นอะไรก็ได้

ซลาตัน อิบราฮิโมวิช นักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์สวีเดน เติบโตมาจากครอบครัวผู้อพยพ ด้วยระบบสวัสดิการ และโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ทำให้เขาเข้าถึงการฝึกฝนกีฬาในระบบ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องชีวิตของพ่อแม่ ทำให้คนรุ่นใหม่อย่างซลาตัน สามารถวิ่งตามความฝันในฐานะนักฟุตบอลอาชีพได้

2

เรื่องที่สำคัญกว่าการวิ่งตามความฝัน คือ เมื่อการเลือกเส้นทางของชีวิตไม่ตรงตามแผนที่วางไว้ พื้นข้างล่างของประเทศรัฐสวัสดิการจะไม่ใช่พื้นซีเมนต์ที่แข็งจนทำให้เจ็บตัว แต่มันเป็นเหมือนเบาะรองนุ่ม ๆ ที่เอื้อต่อการเลือกเส้นทางในชีวิตใหม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความสำเร็จ ความร่ำรวย หรือชีวิตที่ดีไม่ได้ถูกผูกขาดโดยคนกลุ่มเดียวที่มีอภิสิทธิ์ในสังคม

และนี่คือจุดเริ่มต้น หัวใจของคำว่า ภราดรภาพ ความเป็นพี่น้อง ความเป็นเพื่อนร่วมสังคม ที่เมื่อเราเกิดมาเราจะได้ใช้สนามเด็กเล่นร่วมกัน ลูก ๆ ของเราจะได้เรียนโรงเรียนอนุบาลเดียวกัน สามารถใช้โรงพยาบาลที่ดีที่สุดใกล้บ้าน สังคมจะไม่มีกำแพงสูงที่มากั้นกลางระหว่างคนรวยกับคนจน  ปัญหาอาชญากรรมที่ลดลง ทำให้ไม่ต้องลงทุนไปกับตำรวจและทหาร แต่เอาไปลงทุนให้กับโค้ชฟุตบอลท้องถิ่น สนามกีฬา และนักพัฒนาสังคม สิ่งเหล่านี้คือภาพสะท้อน “ชีวิตสำคัญ”  ที่เงินงบประมาณของประเทศ “รัฐสวัสดิการ” ถูกนำมาจัดสรรเป็นสวัสดิการให้กับประชาชนก่อนที่จะถูกนำมาใช้ในเรื่องอื่น

คำว่า “ชีวิตสำคัญ” จึงเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในจิตสำนึกของพลเมืองนอร์ดิก หรือเทียบง่าย ๆ ในบริบทของประเทศเรา คือ เงินบาทแรกจนบาทสุดท้าย จะถูกนำไปจ้างครูอนุบาล จะกลายเป็นเงินบำนาญ เงินเลี้ยงดูเด็ก เงินค่ารักษาพยาบาลฟรี สามารถเรียนมหาวิทยาลัยฟรี ที่พอเหลือแล้วค่อยเอาไปทำอย่างอื่น สิ่งเหล่านี้คือรูปธรรมของคำว่า “ชีวิตชนะ” ที่ฝังอยู่ในชีวิตของผู้คนในประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ

3

อาจมีหลายคำอธิบายที่พยายามบอกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะของประเทศเหล่านั้น แต่ข้อเท็จจริงเมื่อหลายสิบปีก่อนฟ้องให้เห็นว่า สวีเดนเป็นประเทศยากจนที่ผู้คนอยากอพยพหนีออกนอกประเทศ เดนมาร์กคือประเทศเกษตรกรรมที่รายได้ต่อหัวไม่สูง ฟินแลนด์เคยมีสงครามกลางเมือง นอร์เวย์และไอซ์แลนด์ต่างเคยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจกันทั้งคู่ แต่พวกเขาก็สามารถเปลี่ยนมาเป็นประเทศที่มีความเสมอภาค และให้ความสำคัญกับประชาชน โดยสรุป คือ พวกเขาได้ผ่านการต่อสู้มา จนได้สังคมที่พร้อมจะโอบอุ้มทุกคน

ในโรงเรียนที่เดนมาร์กจะมีเกมหนึ่งสำหรับนักเรียน นั่นคือเกมเก้าอี้ดนตรี ที่คล้ายกับเกมที่เราเล่นกันตอนเด็ก ๆ แต่กติกาต่างไป เป็นเกมเก้าอี้ดนตรีที่ไม่มีคนถูกคัดออก เก้าอี้จะน้อยลง แต่จะไม่มีใครถูกคัดออกจากเกม เพราะสิ่งหนึ่งที่สังคมประเทศรัฐสวัสดิการปลูกฝังคือ “เราคัดคนออกไม่ได้” เราต้องหาทางออกแบบสังคมที่ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกัน

22 กรกฎาคม 2011 เกิดเหตุการณ์กราดยิงที่ประเทศนอร์เวย์ จนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 77 คน บาดเจ็บมากกว่า 300 คน ความโศกเศร้าและสิ้นหวังปกคลุมประเทศ แต่สิ่งที่อัยการให้การต่อศาล เขาระบุว่า “มันเป็นเรื่องง่าย ที่จะให้มองว่าผู้ก่อเหตุเป็นปีศาจร้าย มันคงง่ายดายถ้าผมจะสรุปอย่างนั้น แต่เราจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ถ้าสรุปแบบนั้น ผู้ชายคนนี้ ที่เรียนโรงเรียนเดียวกับเรา เคยใช้สนามเด็กเล่นร่วมกับเรา ใช้บริการโรงพยาบาลเดียวกับเรา และครั้งหนึ่งก็มีความฝันเหมือน ๆ กับเรา ดังนั้นเราต้องมาเรียนรู้กันว่ามีอะไรผิดพลาดในสังคมของเราบ้าง”

การไต่สวนครั้งนั้นนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคมที่ฝังรากลึกหลายเรื่องในนอร์เวย์

4

เมื่อชีวิตสำคัญ มันจึงไม่ใช่ชีวิตของคนคนเดียว เพราะมนุษย์สลับซับซ้อนและล้วนสัมพันธ์กัน การออกแบบสังคมที่เป็นของทุกคนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด  

กลุ่มประเทศนอร์ดิกจึงพยายามลดขนาดของถนน และเพิ่มรถเมล์ รถไฟ ระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ เพราะยิ่งถนนใหญ่ รถยิ่งเยอะ อุบัติเหตุก็จะเยอะตาม และนั่นคือการส่งคนออกจากบ้านไปตายมากขึ้น ๆ ด้วยแนวคิดดังกล่าว โคเปนเฮเกน และสตอกโฮล์ม จึงกลายสภาพมาเป็นเมืองหลวงของการปั่นจักรยาน ที่มีอุบัติเหตุทางรถยนต์น้อย พร้อมกับการออกแบบเมืองให้ทุกอย่างที่สำคัญอยู่ใกล้กัน เพื่อตอบสนองกับความปลอดภัยในชีวิตของผู้คน ดังกรณีเหตุการณ์ของเอริกเซ่น นอกจากเรื่องการปฐมพยาบาลที่ช่วยชีวิตของเขาไว้ได้แล้ว เรายังเห็นได้ว่า โรงพยาบาลที่ทำการส่งต่อนั้นอยู่ใกล้กับสนามแข่งอย่างมาก และความหนาแน่นของการจราจรก็อยู่ในระดับต่ำแม้จะเป็นเมืองหลวงของประเทศก็ตาม

5

ภาพในเหตุการณ์การแข่งขันระหว่าง ฟินแลนด์ และ เดนมาร์ก เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่จากนํ้ามาให้เห็น คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ทำไมเราถึงจะสามารถเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ได้ ทำไมเมืองถึงถูกออกแบบมาเพื่อรักษาชีวิตมนุษย์ ทำไมประเทศที่มีรัฐสวัสดิการจึงให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอันดับแรก พวกเขาไม่ได้เป็นชนชาติที่วิเศษ มีวินัย  หรือเสียสละมากกว่าชนชาติอื่น แต่ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ที่อาจแตกต่างจากที่เราคุ้นเคยคือ สังคมรัฐสวัสดิการนอร์ดิกนั้นฝึกให้ผู้คน “เป็นผู้รับ” พวกเขาเรียนรู้ที่จะเป็นผู้รับอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องพิสูจน์ความจน ไม่ต้องพิสูจน์ความเก่ง ไม่ต้องพิสูจน์ความน่าสงสาร เมื่อทุกอย่างที่เขาได้รับนั้นคือ “สิทธิ” สิทธิในฐานะมนุษย์ที่ได้ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด

และพวกเขาก็พร้อมที่จะยอมรับและเคารพผู้อื่นทั้งที่พวกเขารู้จักและไม่รู้จักอย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อสิทธิในชีวิตและศักดิ์ศรีของมนุษย์ถูกให้ความสำคัญเป็นปกติในชีวิตประจำวัน มันจึงเป็นที่มาของพาดหัวข่าวในเหตุการณ์ที่ผู้คนทั้งโลกไม่มีวันลืม 

“เดนมาร์กแพ้ … แต่ชีวิตชนะ”

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on reddit
Reddit