เรียนรู้จาก “แรชฟอร์ด” : เด็กหนุ่มที่ช่วยเหลือเยาวชนจากนโยบายรัฐที่ไม่เห็นหัวประชาชน


เรียนรู้จาก "แรชฟอร์ด" : เด็กหนุ่มที่ช่วยเหลือเยาวชนจากนโยบายรัฐที่ไม่เห็นหัวประชาชน

มาร์คัส แรชฟอร์ด นักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถือเป็นนักกีฬารายหนึ่งที่ได้รับคำชื่นชมจากสังคม หลังบริจาคเงิน 20 ล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือเด็กยากไร้ในอังกฤษ เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา

หากย้อนกลับไปดูเรื่องราวในวัยเด็ก ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่เขาจะลงมาทำกิจกรรมการกุศล เพราะแรชฟอร์ดเติบโตจากครอบครัวยากจน แต่สิ่งที่น่าแปลกใจ คือ ยอดบริจาค ที่สูงกว่าทรัพย์สินส่วนตัวของเขา

ทำไม มาร์คัส แรชฟอร์ด ถึงทำยอดบริจาค 20 ล้านปอนด์ ทั้งที่มีทรัพย์สิน 16 ล้านปอนด์ ? … นี่คือเรื่องราวที่จะตอบคำถามดังกล่าว ซึ่งจะแสดงให้เห็นอิทธิพลของนักฟุตบอลรายหนึ่ง ที่สามารถช่วยเหลือชีวิตผู้คนนับล้าน และเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลที่มองไม่เห็นหัวประชาชน

เรียนรู้ความหมายของการให้

มาร์คัส แรชฟอร์ด คือเด็กหนุ่มชาวอังกฤษ ที่เติบโตขึ้นมาจากครอบครัวยากจนในเมืองแมนเชสเตอร์ โดยอาศัยอยู่กับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เมลานี่ แรชฟอร์ด ซึ่งครั้งหนึ่ง เคยทำงาน 3 อาชีพพร้อมกัน เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวให้มากที่สุด

ความเสียสละของเมลานี่ อยู่ในสายตาแรชฟอร์ดตลอดเวลา ภาพของมารดาที่ไม่ได้กินอะไรตลอดทั้งวัน เพื่อให้ลูกชายได้มีอาหารตกถึงท้อง กลายเป็นบทเรียนสำคัญที่สอนให้เขาเข้าใจหัวอกคนยากลำบาก และมองเห็นว่า “การเสียสละ” เพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น มีคุณค่ามากแค่ไหน

“ความลำบาก และความเสียสละที่แม่ทำมาตลอด มันช่วยให้ผมรู้ซึ้งถึงคุณค่าของทุกสิ่งมากกว่าเดิมเป็น 10 เท่า เพราะฉะนั้น ผมไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนของผมเลย” มาร์คัส แรชฟอร์ด กล่าวกับแม่ของเขา ในรายการ BBC Breakfast

“การเป็นนักกีฬา ผมคิดว่าคุณต้องมีบางสิ่งคอยผลักดันคุณจากข้างหลัง และเมื่อคุณเติบโตขึ้นมาจากความยากลำบาก และความเจ็บปวด เรื่องราวเหล่านั้นจะแปรเปลี่ยนเป็นพลังที่คอยกระตุ้น และผลักดันคุณ”

เรื่องราวในอดีตผลักดันให้แรชฟอร์ดพัฒนาตัวเอง จากเด็กยากจนคนหนึ่งในเมืองแมนเชสเตอร์ สู่ซูเปอร์สตาร์ของทีม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และสร้างรายได้แก่ตัวเองจากเม็ดเงินมหาศาล ด้วยวัย 21 ปี หลังจรดปากกาเซ็นสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งจะทำให้เขารับเงิน 200,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ในปี 2019

กินหรู อยู่สบาย จึงกลายเป็นไลฟ์สไตล์ของแรชฟอร์ด เขาอาศัยอยู่ในบ้านหลังใหม่ที่เขตชานเมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งมีมูลค่าสูง 1.8 ล้านปอนด์ หรือเกือบ 80 ล้านบาท และมีรถหรูหลายคันคอยสับเปลี่ยนใช้ขับไปสนามซ้อม ไม่ว่าจะเป็น Audi A3, Mercedes CLA, Mercedes S Class Coupe หรือ Range Rover Velar นี่คือรถหรูที่เคยผ่านมือแรชฟอร์ดมาแล้วทั้งสิ้น

ชีวิตที่สุขสบายเหมือนราชา อาจทำให้ใครหลายคนลืมกำพืดของตัวเอง แต่ มาร์คัส แรชฟอร์ด ไม่ใช่เด็กหนุ่มแบบนั้น เขาจดจำความเสียสละจากผู้คนรอบข้างได้เสมอ เมื่อถึงจุดหนึ่ง เขาจึงตระหนักได้เองว่า ถึงเวลาที่เขาพลิกสถานะจาก “ผู้รับ” เป็น “ผู้ให้” และคืนอะไรแก่สังคมบ้าง

ช่วยเหลือเด็กยากไร้นับล้าน

จุดเริ่มต้นกิจกรรมการกุศลของแรชฟอร์ด ไม่มีอะไรซับซ้อนเกินกว่า เหตุการณ์วันหนึ่งขณะที่เขากำลังล็อคดาวน์ตัวเอง เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ช่วงต้นปี 2020 เขาเปิดดูโทรทัศน์ก่อนพบข่าวน่าเศร้า ที่กำลังรายงานว่า โรงเรียนหลายแห่งในอังกฤษกำลังปิดตัวลง ตามคำสั่งของรัฐบาล

สำหรับชนชั้นสูง หรือ ชนชั้นกลาง ที่ไม่เคยเรียนรู้ถึงความยากลำบาก พวกเขาย่อมปรบมือให้กับคำสั่งของ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ถึงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม 

แต่สำหรับชนชั้นล่าง นี่เป็นข่าวร้ายเกินจินตนาการ เพราะเด็กจำนวนมากจะต้องพบกับความยากลำบาก จากปัญหาขาดแคลนอาหาร เนื่องจากไม่ได้รับอาหารตามโปรแกรม School Meal อีกต่อไป

“หลังจากมาร์คัสได้ดูข่าวโรงเรียนที่กำลังจะปิดตัวลง เขาพูดออกมาทันทีว่า ‘แล้วเด็กพวกนั้นจะกินอะไร ?’ ถ้าพวกเขาไม่ได้ไปโรงเรียน พวกเขาจะไม่มีอาหารมื้อเช้า แล้วใครจะหาอะไรให้พวกเขากิน” เคลลี่ โฮการ์ธ คนสนิท และตัวแทนของแรชฟอร์ด กล่าว

ก่อนวิกฤติโควิด-19 แรชฟอร์ดเคยทำกิจกรรมการกุศล เพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านในเมืองแมนเชสเตอร์ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2019 ด้วยการบริจาคอาหารจำนวน 1,200 กล่อง ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส แต่ตัวเขากลับไม่พอใจกับผลลัพธ์ที่ออกมานัก เพราะคนที่เข้าถึงการช่วยเหลือมีจำนวนน้อยเกินไป

คราวนี้ แรชฟอร์ดจึงทุ่มเทเต็มที่กับกิจกรรมการกุศลของเขา ด้วยการร่วมมือกับ FareShare เครือข่ายการกุศลระดับประเทศ ที่มีความสามารถในการแจกจ่ายอาหารแก่ชุมชน ซึ่งจะเข้ามาแก้ปัญหาความช่วยเหลือเข้าไม่ถึงผู้ยากไร้ ที่แรชฟอร์ดเคยพบเจอ เมื่อคราวก่อน

แรชฟอร์ด และ FareShare จัดตั้งแคมเปญ Free School Meals เพื่อเด็กยากไร้ในเขตเมืองแมนเชสตอร์ โดยแรชฟอร์ดตั้งเป้าไว้ว่า ภายในเดือนมีนาคม 2020 เด็กมากกว่า 400,000 คน ต้องเข้าถึงความช่วยเหลือครั้งนี้ เพราะเขารู้ดีว่า อาหารที่โรงเรียนสำคัญกับเด็กคนหนึ่งมากแค่ไหน จากประสบการณ์ของตัวเองที่ผ่านมา

“ผมจำได้ในวันที่ผมยังต้องไปโรงเรียน ผมเป็นคนหนึ่งที่ต้องพึ่งอาหารฟรีของโรงเรียน เพราะแม่ของผมจะไม่กลับบ้านจนกว่าจะ 6 โมงเย็น เพราะฉะนั้น มื้อต่อไปของผมคือเวลา 2 ทุ่ม”

“ผมคิดว่าตัวเองโชคดี (ที่ได้อาหารฟรีจากโรงเรียน) แต่เด็กเหล่านี้อยู่ในสถานการณ์ที่ยากกว่ามาก เพราะพวกเขาไม่มีอาหารรอตัวเองอยู่ที่บ้าน”

ความตั้งใจจริงในการช่วยเหลือเด็กผู้อยากไร้ ส่งผลให้แคมเปญของเขาสามารถรวบรวมเกินบริจาคสูงถึง 20 ล้านปอนด์ หรือราว 880 ล้านบาท ซึ่งสร้างความประหลาดใจแก่ผู้คนทั่วอังกฤษ เพราะทรัพย์สินส่วนตัวของแรชฟอร์ด จากการรายงานของ The Times สื่ออังกฤษในปี 2021 อยู่ที่ 16 ล้านปอนด์ หมายความว่าเงินบริจาคครั้งนี้ คือ 125 เปอร์เซ็นต์ ของทรัพย์สินส่วนตัวของเขา 

นี่คือความสำเร็จครั้งใหญ่ที่แรชฟอร์ดต้องการ เพราะไม่เพียงแค่เด็กในเมืองแมนเชสเตอร์เท่านั้น ที่จะได้รับอาหารฟรี แต่รวมถึงเด็กยากไร้ทั่วประเทศ มากกว่า 1 ล้านคน คิดเป็นอาหาร 3 ล้านมื้อต่อสัปดาห์ ที่ถูกแจกจ่ายแก่เด็กทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน หลังการเข้ามามีส่วนร่วมของแรชฟอร์ด

“หากย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว เราคงได้เงินบริจาคแค่ 2 แสนปอนด์ แต่หลังจากที่แรชฟอร์ดเข้ามาช่วยเหลือเราเพียงสัปดาห์เดียว เราได้รับเงินบริจาค 5 แสนปอนด์ จากผู้คน 35 ประเทศทั่วโลก นั่นช่วยให้เราเพิ่มมื้ออาหารเป็น 2 ล้านมื้อต่อสัปดาห์ แต่โชคร้าย มันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศนี้” ลินด์เซย์ บอสเวลล์ ซีอีโอของ FareShare กล่าว

ผลลัพธ์ที่ตามมา

การเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมการกุศลนี้ ช่วยให้แรชฟอร์ดเรียนรู้ว่า มีเด็กมากกว่า 1.3 ล้านคนทั่วอังกฤษ ที่ประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร เขาจึงตัดสินใจเขียนจดหมายเปิดผนึกส่งถึงสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ ในเดือนมิถุนายน 2020 

เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ ที่ออกคำสั่งตัดงบประมาณอาหารกลางวันฟรีในช่วงปิดเทอม เพื่อนำเงินไปอุดหนุนภาคเอกชน และกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19

“รัฐบาลกล่าวว่า พวกเขาจะทำทุกทางเพื่อดูแลสภาพเศรษฐกิจ ผมขอถามคุณวันนี้ว่า คุณเคยคิดแบบเดียวกันเพื่อปกป้องเยาวชนผู้อ่อนแอทั่วอังกฤษหรือไม่ ?” ข้อความส่วนหนึ่งจากจดหมายของแรชฟอร์ด ที่ส่งถึงรัฐบาลอังกฤษ

“ผมขอให้คุณฟังคำร้องขอของพวกเขา และค้นหามนุษยธรรมในตัวคุณ ได้โปรดตัดสินใจเรื่องอาหารโรงเรียนในช่วงปิดเทอมใหญ่อีกครั้ง และการันตีว่าพวกคุณจะขยายความช่วยเหลือนี้ออกไป”

เพียงหนึ่งวันหลังจากจดหมายของแรชฟอร์ด ถูกเผยแพร่สู่สายตาคนทั่วโลก รัฐบาลอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ ตัดสินใจกลับลำมานับสนุนโปรแกรม Free School Meals อีกครั้ง นอกจากนี้ ยังประกาศทุ่มงบประมาณ 400 ล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือเด็กยากไร้ทั่วประเทศ ในอีก 12 เดือนข้างหน้า

การออกเสียงแทนประชาชนครั้งนี้ ส่งผลให้แรชฟอร์ด ได้รับพระราชทาน​เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น MBE เพื่อตอบแทนความทุ่มเทในการช่วยเหลือเด็กผู้ยากไร้ทั่วอังกฤษ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2020 โดยแรชฟอร์ด ถือเป็นประชาชนชาวอังกฤษ ที่บริจาคเงินแก่กิจกรรมการกุศลมากที่สุด ในปี 2020 ด้วย

แน่นอนว่า เงิน 20 ล้านปอนด์ ตรงนี้ ไม่ได้มาจากทรัพย์สินของเขาทั้งหมด แต่น้ำพักน้ำแรง และความตั้งใจที่ต้องการช่วยเหลือเด็กยากไร้มากกว่า 1 ล้านคน ทั่วประเทศอังกฤษ คือสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้

หากแรชฟอร์ดไม่ออกมาเรียกร้องตรงนี้ รัฐบาลฝ่ายขวาคงตัดงบประมาณด้านสวัสดิการจนเกลี้ยง และปล่อยให้ผู้ประสบปัญหาท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ต้องรับมือกับความยากลำบากด้วยตัวเอง

สิ่งที่คุณอ่านมาตั้งแต่ต้นจนจบ จึงมีความหมายมากกว่า กิจกรรมการกุศลของนักฟุตบอลชื่อดัง แต่แสดงให้เห็นว่า ผู้ทรงอิทธิพลในสังคม หรือ อินฟลูเอนเซอร์ สามารถส่งเสียงเพื่อเปลี่ยนชีวิตผู้คน และต่อรองอำนาจทางการเมืองกับภาครัฐได้อย่างไร

นับเป็นโชคดีของชาวอังกฤษที่มีนักฟุตบอลอย่าง มาร์คัส แรชฟอร์ด งบประมาณ 400 ล้านปอนด์ หรือราว 17,000 ล้านบาท จึงถูกส่งลงมาช่วยเหลือประชาชน โชคร้ายที่บางประเทศไม่มีนักฟุตบอล หรืออินฟลูเอนเซอร์อย่างแรชฟอร์ด งบประมาณหมื่นล้านในแต่ละปี จึงถูกนำไปละลายแม่น้ำ โดยที่ผู้ยากไร้ยังคงลำบากอยู่ทั่วประเทศเช่นเดิม

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on reddit
Reddit