The Beautiful Game : อัลบั้มเพลงยูโร 96 ที่เป็นหลักฐานการบรรจบกันของ Cool Britannia กับฟุตบอล


The Beautiful Game : อัลบั้มเพลงยูโร 96 ที่เป็นหลักฐานการบรรจบกันของ Cool Britannia กับฟุตบอล

“ชัดเจนมากว่าวัฒนธรรมดนตรีและฟุตบอลไม่เคยขยับเข้าใกล้กันมากขนาดนี้ สองมรดกสุดล้ำค่าของประเทศ เหมาะสมแล้วที่เราจะใช้ดนตรีในการเฉลิมฉลองให้กับประเทศอังกฤษ ในฐานะเจ้าภาพฟุตบอลยูโร 96 ครั้งนี้”

คำกล่าวข้างต้น ถูกเอ่ยโดย ริค บาสคีย์ หัวหน้าผู้จัดการด้านดนตรีและสื่อ ผู้รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ เบื้องหลังการทำเพลงให้กับศึกฟุตบอล ยูฟ่า ยูโรเปี้ยน แชมเปี้ยนชิพ ประจำปี 1996 ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์จากนิตยสาร Billboard ที่ปีที่สหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ 

หากมองอย่างผิวเผิน เรื่องดังกล่าวคงไม่มีความพิเศษมากเท่าไรนัก ถ้าหากดนตรีในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเพลง “Three Lions” เพลงเชียร์ฟุตบอลประจำทีมชาติอังกฤษสุดโด่งดัง ที่ถูกนิยามว่าเป็นดนตรีแนว ‘บริตป็อป’ ที่เป็นที่นิยมในประเทศอังกฤษยุค “Cool Britannia”

 

แล้วทำไมบริตป็อปถึงมีความสำคัญต่อฟุตบอลยูโร 96 มากนัก Main Stand ชวนมาค้นหาคำตอบไปพร้อมกัน

London Rules 

“Cool Britannia” เป็นคำที่ถูกยกขึ้นมานิยามยุคสมัยหนึ่งของสหราชอาณาจักรในช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 1990s ช่วงเวลาดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งเกาะอังกฤษเลยก็ว่าได้ 

กราฟของระบบเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1993 หลังจากพ้นสภาวะถดถอยมาได้  วัยรุ่นหนุ่มสาวยุคนั้น ได้เติบโตผ่านการบริโภคแฟชั่นและความบันเทิงที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคสมัยเก่าเข้าสู่สมัยใหม่ 

ด้วยบริบททางสังคม การเมืองที่เปลี่ยนไป “ลอนดอน” เริ่มกลายเป็นศูนย์กลางความนำสมัยในเรื่องของแฟชั่น ศิลปะ และดนตรี

 

นิตยสารรายสัปดาห์ของสหรัฐอเมริกา อย่าง ‘Newsweek’ ถึงกับขึ้นพาดหัวข่าวว่า “ลอนดอนสุดเจ๋ง” (London Rules) จากอังกฤษที่ดูเป็นเมืองครึ้มฟ้าครึ้มฝนปนเศร้า กลับกลายเป็นคำบอกเล่าต่อกันโดยนักท่องเที่ยวว่าเป็น “เมืองที่เจ๋งที่สุดในโลก” 

ภาพของสหราชอาณาจักรที่กำลังคึกคักนั้นจะไม่สมบูรณ์ หากขาดดนตรีประกอบฉากหลัง ที่มาจากเพลงของวงดนตรีมาแรงอย่าง Blur, Oasis, Suede หรือ Pulp ที่ได้รับการขนานนามว่าคือ “The Big 4” ของดนตรียุคนั้น ด้วยจุดยืนร่วมกันบนสิ่งที่เรียกว่า “บริตป็อป” กระแสดนตรีนิวเวฟที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยท่วงทำนองและเนื้อเพลงติดหู ผนวกกับเนื้อหาของเพลงที่มักจะพูดถึงค่านิยมความเป็นอังกฤษ บริตป็อปจึงเป็นเหมือนภาพแทนของความรัก ความฝัน และความหวังของชนชั้นแรงงานไปโดยปริยาย

Working Class Heroes 

ประเทศอังกฤษ ขึ้นชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความโดดเด่นในเรื่องของวัฒนธรรมดนตรีมาแต่ช้านาน ย้อนกลับไปช่วงทศวรรษ 1960s ตั้งแต่ยุคของ The Beatles, The Who, The Kinks ต่อเนื่องมาจนถึงทศวรรษ 1970s ที่เริ่มมีความเคลื่อนไหวของแนวดนตรีที่เรียกว่า Glam Rock ตลอดจนถึง Punk Rock ที่มีศิลปินผู้วางรากฐานอย่าง David Bowie, Sex Pistols และ The Clash ที่ต่างก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ทางดนตรีไว้อย่างสมชื่อ 

 

จนมาถึงยุคที่เรียกว่า “Madchester” อีกหนึ่งกระแสการขับเคลื่อนทางดนตรีที่สำคัญในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ที่เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ พร้อมส่งต่อมรดกให้กับเด็กรุ่นถัดไปในการเล่นดนตรี วงดนตรีจากแมนเชสเตอร์ที่ถูกนิยามว่าเป็นวง “อินดี้” อย่าง The Smiths หรือ The Stone Roses ที่เป็นดั่งผู้กรุยทางให้กับดนตรีนอกกระแส ได้เข้ามามีบทบาทกับดนตรีกระแสหลักได้เพิ่มมากขึ้น  

เมื่อใดที่ดนตรีนอกกระแสกลายมาเป็นดนตรีกระแสหลัก เมื่อนั้นคือสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง ดนตรีอัลเทอร์เนทีฟที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นว่านี่คือช่วงเวลาที่วงดนตรีระดับตำนานแห่งเกาะอังกฤษร่วมกันเข็นผลงานอันโดดเด่นออกมา ด้วยสตูดิโออัลบัมเลื่องชื่ออย่าง Parklife (1994) ของวง Blur ที่มีเพลงดังอย่าง Girls & Boys เป็นเหมือนภาพสะท้อนวัฒนธรรมของวัยรุ่นยุค 90s หรืออัลบั้ม (What’s the Story) Morning Glory? (1995) ของ Oasis ที่มีซิงเกิลฮิตอย่าง Don’t Look Back in Anger ที่กลายมาเป็นเพลงฮิตสำหรับแฟนบอลอังกฤษอีก 1 เพลงเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีเพลง Trash เพลงที่พูดถึงความรักของกลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็นคนชายขอบ แต่มีความสุขดี ในอัลบั้ม Coming Up (1996) ของวง Suede และเพลงที่แฟนเพลงอังกฤษโหวตให้เป็นเพลงชาติของกระแสบริตป็อปอย่าง Common People จากอัลบั้ม Different Class (1995) ของวง Pulp และทุกรายชื่อที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนเป็นผลงานระดับคลาสสิก ที่ยังถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 

 

ด้วยเหตุนี้ คำว่าบริตป็อปอาจไม่ได้มีความหมายถึงแค่แนวดนตรีอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ แท้จริงแล้วบริตป็อปถือเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมและสภาวะของอุตสาหกรรมดนตรี และถึงจุดพีกเมื่อถูกจับมาประกอบเข้ากับความนิยมในกีฬาลูกหนังในปี 1996 ช่วงเวลาที่ความภาคภูมิใจในมรดกทั้งสองของอังกฤษกำลังพุ่งทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุด

The Beautiful Game 

ช่วงเวลาแห่งการแข่งขันฟุตบอล ยูฟ่า ยูโรเปี้ยน แชมเปี้ยนชิพ ครั้งที่ 10 ในปี 1996 เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศอังกฤษในฐานะเจ้าภาพ ความครึกครื้นเริ่มก่อตัวขึ้นจากความตื่นเต้นของผู้คน 

การที่อังกฤษได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขัน นำมาซึ่งความรู้สึกร่วมกันของผู้คนที่มองว่าฟุตบอลได้เวียนกลับมาที่บ้านเกิดอีกครั้ง เพราะฉะนั้นแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคนอังกฤษที่จะปฏิเสธการเชียร์ทีมฟุตบอลทีมชาติของตัวเอง 

 

นี่คือเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง ฉลองให้แก่ฟุตบอล ฉลองให้แก่ประเทศ ฉลองให้ Cool Britannia แน่นอนว่าไม่มีอะไรเหมาะเจาะไปกว่าการจะทำการตลาดด้วยการโปรโมทฟุตบอลโดยใช้ดนตรีเป็นตัวนำ สมาคมฟุตบอลอังกฤษได้เริ่มประสานงานติดต่อกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับดนตรีและสื่อ เพื่อทำ “Official Album” สำหรับฟุตบอลยูโรปี 96 จนเกิดเป็นอัลบั้ม “The Beautiful Game” ในเวลาต่อมา 

“The Beautiful Game” เป็นอัลบั้มรวมเพลงที่ออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1996 โดยมีจุดประสงค์เพื่อการโปรโมทฟุตบอลยูโรปี 96 และมักรู้จักกันในฐานะอัลบั้มเพลงสำหรับฟุตบอลยูโรปี 96 อย่างเป็นทางการ 

ในอัลบั้มนี้จะประกอบไปด้วยเพลงจากหลากหลายศิลปิน หลากหลายแนว มีทั้งเพลงที่เคยปล่อยมาแล้วและยังไม่เคยปล่อยมาก่อน นำด้วยเพลงเชียร์บอลอังกฤษสุดเลื่องชื่ออย่าง “Three Lions” โดยวงร็อคจากลิเวอร์พูลอย่าง “The Lightning Seeds” ร่วมด้วยคอเมเดี้ยนอาชีพ อย่าง “David Baddiel” และ “Frank Skinner” เพลงที่มีเนื้อร้องสุดคลาสสิกอย่าง “It’s Coming Home, it’s coming. Football’s coming home”



Photo : www.discogs.com

ตามมาด้วยศิลปินอย่าง Blur, Jamiroquai, Massive Attack, Supergrass และ Primal Scream ส่งผลให้อัลบั้มรวมเพลงชุดนี้ขายดีอย่างเทน้ำเทท่า เปิดตัวครั้งแรกที่อันดับ 10 ในชาร์ตอัลบัมรวมเพลงของอังกฤษ และเพลง “Three Lions” ถือครองสถิติอันดับ 1 บนชาร์ตซิงเกิลของอังกฤษเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์

 

อัลบั้มดังกล่าวไม่เพียงแต่จะทำให้การเชียร์ฟุตบอลมีสีสันมากขึ้น แต่ “The Beautiful Game” ยังเป็นภาพสะท้อนที่เด่นชัดถึงสังคมประเทศอังกฤษ เมื่อจุดพีคของทั้งสองวงการมาบรรจบกัน ภาพของดนตรีและฟุตบอลอังกฤษก็ดูจะขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้นนับแต่นั้น

แม้ว่าในศึกการแข่งขันฟุตบอลยูโรปี 96 ครั้งนั้น เจ้าภาพอย่างอังกฤษไม่ได้เข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ แต่ ค.ศ. 1996 นั้น สำหรับชาวอังกฤษ ถือเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลอง ที่เต็มไปด้วยความตื่นตัวของแฟชั่น ดนตรี ศิลปะ อังกฤษได้กลายเป็นประเทศที่อยู่บนจุดสูงสุดของช่วงร่ำรวยวัฒนธรรมร่วมสมัย เรียกได้ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญต่อประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลและดนตรีอย่างแท้จริง

The Bond

ในช่วงปลายทศวรรษ 1990s จนถึงต้นทศวรรษ 2000s แม้ว่ากระแสของบริตป็อปจะเริ่มเบาลง แต่อุตสาหกรรมดนตรีของอังกฤษก็ยังคงเติบโตขึ้น จนก่อให้เกิดการแตกแขนงทางดนตรีอีกครั้ง กลายเป็นกระแสที่เรียกว่า  “โพสต์บริตป็อป” วงดนตรีหน้าใหม่ในขณะนั้นอย่าง Radiohead, Travis, Stereophonics และ Coldplay เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทั้งในอังกฤษและต่างประเทศ และถึงแม้ว่าจะผ่านช่วงเวลาของการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลมาแล้ว แต่อังกฤษก็ยังคงเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเพลงเชียร์ฟุตบอลเรื่อยมา

ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1998 ได้มีการจัดตั้งวง Supergroup ขึ้นมา อันประกอบไปด้วย วงร็อคอย่าง Echo and the Bunnymen, Ocean Colour Scene และ Space อีกทั้งยังได้เกิร์ลกรุ๊ปที่มาแรงที่สุดในยุคนั้นอย่าง Spice Girls มาร่วมด้วย จนออกมาเป็นเพลง “(How Does It Feel To Be) On Top Of The World?” อันโด่งดัง หรืออีกวงที่รวมตัวกันเพื่อการแต่งเพลงเชียร์ฟุตบอลโดยเฉพาะอย่าง “Fat Les” ที่มีสมาชิกคือ Alex James มือเบสจากวง Blur ร่วมกับนักแสดง Keith Allen และศิลปินร่วมสมัยชาวอังกฤษอย่าง Damien Hirst ในเพลง “Vindaloo” เพลงเชียร์ฟุตบอลที่เปิดตัวบนอันดับ 2 ของชาร์ตซิงเกิลในอังกฤษ ทั้งที่เพลงนี้ไม่ใช่เพลงเชียร์อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด 

จนถึงตอนนี้ ใจที่เปี่ยมไปด้วยความรักต่อฟุตบอลและดนตรีของชาวอังกฤษนั้นดูจะเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ขาด ผลผลิตจากการสร้างค่านิยมของวัฒนธรรมร่วมสมัย แปรเปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมร่วมระดับชาติ เราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเรื่องทั้งสองมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยยะสำคัญ

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on reddit
Reddit